เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 19 พฤศจิกายน 2564 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 1569 คน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมแสดงความยินดีกับ ทีม Nile Creek Rescue ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย นำทีมโดย ดร.ชไมพร รัตนเจริญชัย หัวหน้าโครงการ U2T ตำบลสันกลาง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตนาพร นรรัตน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศ U2T National Hackathon 2021 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ทีมชนะเลิศระดับประเทศ การแข่งขัน การระดมสมองประลองไอเดียเพื่อแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ตำบลจากทีมที่ได้รับคัดเลือกทั่วประเทศจำนวน 40 ทีม จากหัวข้อการพัฒนาระบบเติมน้ำอากาศเพื่อแก้ปัญหาปลาน็อคน้ำ โดยได้รับเงินรางวัลชนะเลิศจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2564 วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน ณ เวทีกลาง อาคาร Exhibition Hall 12 อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี นนทบุรี
การแข่งขันกิจกรรมภายใต้โครงการ U2T ประกอบไปด้วยกิจกรรม U2T National Hackathon 2021 ,Social Innovation Game & Challenge ,U2T e-Sports Tournament จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2564 ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแข่งขัน โดยกิจกรรม U2T National Hackathon 2021 ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ บนปัญหาและความต้องการในพื้นที่จริงกว่า 3,000 ตำบลเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทก์กับบริบทในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้ ปฏิบัติจริงในชุมชน และผ่านกิจกรรมแฮก กาธอน ภายใต้โจทก์ "แนวทางแก้ปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. การนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและสุขภาพไปช่วยบริการชุมชน 3. เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 4. การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมถึง 965 ทีม หรือกว่า 5,000 คน จาก 8 ภูมิภาค โดยรอบแรกได้ทำการคัดเลือกจาก 965 ทีม ให้เหลือ 300 ทีม จากนั้นจึงคัดเหลือ 40 ทีมสุดยอดผ่านเข้ารอบสุดท้าย เพื่อแข่งขันการระดมสมองประลองไอเดีย แก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ตำบล (Pitching) ค้นหาทีมผู้ชนะเลิศระดับประเทศจำนวน 5 ทีม และ Showcase ผลงานที่พัฒนาต้นแบบมาตลอดโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ภาพ/เรียบเรียง เสาวลักษณ์ จันทร์พรหม
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา